ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

สถิติ
เปิดเมื่อ8/03/2012
อัพเดท24/12/2012
ผู้เข้าชม3966
แสดงหน้า4151
ปฎิทิน
April 2025
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
  
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
   




(เข้าชม 157 ครั้ง)
วันมาฆบูชา





 

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 3 หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 4 หรือประมาณเดือน มีนาคม

วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า 'มาฆปุรณมีบูชา' แปลว่า 'การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ

๑. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ซึ่งจาริกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แควันมคธ

๒. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (ดูรายละเอียดได้ใน พิธีบรรพชาอุปสมบท)

๓. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย

๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือน มาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์ คือ ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา 3 ประการ ได้แก่

๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง

๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม

๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

การปลงมายสังขาร

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือตั้งพระทัยว่า 'ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน' การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พระชันษา

ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม 2 ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และเป็นวันปลงอายุสังขาร

ประวัติการประกอบพิธีมาฆบูชา

ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ดังนี้

การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตนิยมไว้ว่า วันมาฆบูชามีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก 1,250 ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ 1,250 พระองค์นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช

การพระราชกุศลนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชาประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน 3 ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป

การมาฆบูชานี้เป็นเดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ (หมายถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อย ๆ ถ้าถูกคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบาทมหาราชวังฯ

การประกอบพิธีเวียนเทียน ในวันมาฆบูชา

การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ

๑.พิธีหลวง (หรือพระราชพิธี)

๒.พิธีราษฎร์

๓.พิธีสงฆ์

การประกอบพระราชพิธี

สำนักพระราชวัง จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน

การประกอบพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา สำหรับประชาชนทั่วไป

หากเป็นสถานศึกษา ครูอาจารย์จะนำนักเรียนไปประกอบพิธีในวันมาฆบูชาที่วัด โดยบอกกำหนดนัดหมายที่แน่นอน รวมทั้งบอกวัดที่จะไปทำพิธี นักเรียนทุกคนจะต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีในตอนบ่ายหรือเย็น

สำหรับประชาชนทั่วไป จะจัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปพร้อมกันที่วัด ในเวลาเย็นหรือค่ำ เพื่อประกอบพิธีมาฆบูชา การประกอบพิธีส่วนใหญ่ จะกระทำกันที่โบสถ์เพราะหลังจากฟังโอวาทและสวดมนต์เสร็จแล้ว จะทำการเวียนเทียนรอบโบสถ์

ในวันมาฆบูชา พระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี มีการให้โอกาส สวดมนต์ และ นำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มี การนั่งสมาธิเจริญภวนา ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวสุดแต่เห็นสมควร

ข้อปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันมาฆบูชา ที่ควรทราบมีดังนี้

๑. จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มาพร้อมกันที่วัด ตามเวลานัดหมาย เพื่อฟังโอวาทหรือพระธรรมเทศนา สวดมนต์ และเวียนเทียน

๒. ก่อนออกจากบ้าน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสและแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

๓. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยหยอกล้อ วิ่งเล่น หรือกระทำภารกิจอื่นอันไม่สมควร เช่น เคาะระฆังเล่น จุดดอกไม้ไฟ ฯลฯ

๔. เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี ให้ทุกคนไปเข้าแถวหรือเข้าไปในสถานที่กำหนดโดยพร้อมเพรียงกัน

๕. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้โอวาท ทุกคนต้องพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนตั้งใจฟังด้วยความสงบ กล่าวคำสาธุเมื่อพระสงฆ์ให้โอวาทจบ

๖. ในพิธีสวดมนต์ จะมีผู้กล่าวนำคำบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา และคำบูชาพระรัตนตรัย ให้ทุกคนจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวตามด้วยความเคารพ มีจิตใจยึดมั่น

บทสวดมนต์ในการทำพิธีวันมาฆบูชา มีดังนี้

๑. บทสวดมนต์ไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย (บทอรหัง สัมมา ฯ)

๒. บทสวดนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (บทนโม ฯ 3 จบ)

๓. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทอิติปิโสฯ )

๔. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทองค์ใดพระสัมพุทธ ฯ)

๕. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวากขาโตฯ)

๖. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทธรรมะคือ คุณากรฯ)

๗. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ (บทสุปฏิปันโนฯ)

๘. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสงฆ์ใดสาวกศาสดาฯ)

๙. บทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา (บทพาหุงฯ)

๑๐.และคำแปลบทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา สวดทำนางสรภัญญะ (ปางเมื่อพระองค์ฯ)

๑๑. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (อัชชายังฯลฯ)

หลังจากสวดมนต์เสร็จ ประธานในพิธีจะนำเวียนเทียน โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณรอุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

ในการเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ จะกระทำ 3 รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฎ

ในรอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เมื่อให้จิตมีสมาธิ

ในรอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวดสวากขาโต ภะคะวะตาธัมโมฯ ไปจนจบ

ในรอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ

๑. ในการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไม่ควรส่งเสียงพูดคุยหรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า

๒. เมื่อเวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนดเพื่อสะดวกแก่การเก็บทำความสะอาด

๓. หลังจะเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่น ๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้น

(ในการประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ก็ให้ถือปฏิบัติตามนี้)

ข้อเสนอแนะในวันมาฆบูชา

ควรไปร่วมพิธีเวียนเทียน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย และเป็นการร่วม กิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา

ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา และที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย ฉายสไลด์หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันมาฆบูชา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
 
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.wathuakrabeu.com/2010-01-20-05-54-24.html
และภาพจาก http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/145
/7145/images/tumma.jpg


 

วันวิสาขบูชา


หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส ก็เลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗) ในวันนี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ

วันวิสาขบูชา

ความสำคัญของ “วันวิสาขบูชา”

ด้วยเหตุตามที่กล่าวมา วันวิสาขบูชา จึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเมื่อถึงวันเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนถ้วนหน้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงพร้อมใจกันน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า ประกบอพิธีบูชาด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง

 

 

การบูชาอันเนื่องด้วยวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมาก็ควรที่จะกล่าวประวัติไว้เพื่อเป้นการเจริญศรัทธา ความเชื่อและปสาทะความเลื่อมใสต่อไป

070509-09

การประสูติ

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงกระทำบุญญาธิการไว้ในสำนักของ พระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ มีพระพุทธเจ้าทรงพระนาม ทีปังกรเป็นต้นมาถึง ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัลป์ จนได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์นั้นว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม ในอนาคต พระองค์ได้บำเพ็ญพุทธการกธรรมมีทานบารมีเป็นเป็นต้น และได้รวบรวมธรรม ๘ ประการ คือ


๑. มนุสฺสตฺตํ เป็นมนุษย์
๒. ลิงคสมฺปตฺติ เป็นเพศชาย
๓. เหตุ มีอุปนิสัยสมบัติที่จะบรรลบุมรรคผลได้
๔. สตฺถารทสฺสนํ พบพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่
๕. ปพฺพชฺชา บวชเป็นดาบสหรือพระภิกษุอยู่
๖. คุณสมฺปตฺติ ได้สมาบัติ ๘ และ อภิญญา ๕
๗. อธิกาโร อาจสละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้
๘. ฉนฺทตา มีฉันทะ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธกากรธรรม

ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เรียกว่า อภินิหาร

พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำอภินิหารแทบเบื้องยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ได้บำเพ็ญบารมีและพิจารณาถึงพุทธการกธรรมมา โดยลำดับตราบจนถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี มาด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่เวไนยสัตว์ ทั่งข้องอยู่ในวัฏฏะให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะ ดังนั้นพระองค์เมื่อจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็ย่อมสเด็จอุบัติขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวโลก ให้พ้นจากทุกข์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเป็นไฉน ? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

อีกประการหนึ่ง ความปรารถนาของพระพุทธเจ้าจะปรากฏง่าย ๆ เหมือนสามัญชนก็หาไม่ แท้ที่จริงแล้วความปรากฏของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรารกฏของบุคคลผู้เอกหาได้ยากในโลก, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน , คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏของบุคคลผู้เอกนี้แล หาได้ยากในโลก

พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นอัจฉริยมนุษย์ที่พิเศษกว่ามวลมนุษย์ทั้งหลาย เกิดขึ้นในโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน, คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก จะมีใคร ๆ ในโลกที่จะเปรียบเทียบเสมอกับพระองค์ย่อมไม่มี ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่เป็นที่ ๒ ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่เป็นที่ ๒ ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลผู้เปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย

ความปรากฏของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลก ย่อมจะให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ทุกประการ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอก เป็นความปรากฏขึ้นแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งโอกาสใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล, บุคคลผู้เอกเป็นไฉน, คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอกนี้แล เป็นความปรากฏขึ้นแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุเป็นอันมาก เป็นการแทงตลอดธาตุต่าง ๆ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล,

พระพุทธพจน์ดังกล่วามานี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า วันประสูติของพระพุทธเจ้านับว่าเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันเกิดของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะหาบุคคลที่เสมอเหมือนไม่มีในโลก ดังที่พระองค์ทรงเปล่งกล่าวอาสภิวาจาว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เสฏฺโฐหสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก

การประสูติของพระพุทธเจ้าที่สวนลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน ในวันเพ็ญ เดือน ๖ เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันประสูติของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 

070509-07

การตรัสรู้

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้ทรงตรัสรู้สัจจธรรม ๔ ประการ หรือที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ ซึ่งเป็นของจริงอย่างประเสริฐที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ชอบได้ โดยพระองค์เองที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอนมาก่อนเลย ดังที่พระองค์ตรัสว่า

?เราเป้นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมที่เป็นไปในภพ ๓ ทั้งหมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราไม่มี บุคคลที่เสอมเหมือนเราก็ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาซึ่งไม่มีศาสดาอื่นยิ่งกว่า เราผู้ดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว?

ชาวโลกจึงพากันขนานพระนามแด่พระองค์ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเราตถาคตตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ เหล่านี้ตามความเป็นจริง ชาวโลกจึงเรียกตถาคตว่า เป็นองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, เราตถาคตได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่ประชาสัตว์ สมณ พราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์, เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ ประการนี้จึงเรียกว่า อริยสัจ

จริงอยู่ อริยสัจ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น เป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ไม่สามารจะคัดค้านหรือปฏิเสธได้ ดังที่พระพุทูองค์ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ ประการนี้ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สัจจะ ๔ ประการนี้ได้แก่อะไร, ได้แก่ ทุกข์ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, สมุทัย เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, นิโรธ เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น, มรรค เป็นของจริงแท้ แน่นอน ไม่แปรเป็นอื่น

และธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นั้นเป็นธรรมที่มีความสุขุมละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก มิใช่ธรรมที่ผู้มีกิลเสหนาปัญญาหยาบจะตามรู้ได้โดยง่าย ดังที่พระพุทธองค์ทรงมีพระปริวิตกเมื่อคราวที่ตรัสรู้ใหม่ ๆ ว่า

ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้แล เป็นธรรมอันลึกซึ้ง พิจารณาเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมที่สงบระงับ ประณีต ตรึกตรองเอาเองไม่ได้ เป็นธรรมอันละเอียด รู้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นบัณฑิต

การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นโพธิ์อัสสัตถพฤกษ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงนับว่าเป็นวันสำ คัญทางพระพุทธศาสนา

 

070509-06

 

การปรินิพพาน

การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลก ก็เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการดับสลายไปแห่งดวงตาของโลกชั่วนิจนิรันดร์ เป็นเหตุให้หมู่ประชาต้องโศกเศร้าอาลัยถึงด้วยความเสียดาย ในพระพุทธองค์ผู้เป็นดวงตาอันยิ่งใหญ่ของชาวโลก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก, บุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษเป็นไฉน, คือ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปรินิพพานของบุคคลผู้เป็นเอกอัครมหาบุรุษ เป็นเหตุเดือดร้อนใจ อาลัยอาวรณ์ของชนเป็นอันมาก

การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ร่มไม้สาละ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียบุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะเหตุนั้น วันเสด็จดับขันธปริพพานของ พระพุทธเจ้านั้นจึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว วันประสูติ และ วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นวัน นำมาซึ่งประโยชน์ ซึ่งความสุข ความเจริญ ความชื่นชม โสมนัสปรีดา และปราโมทย์แก่ชาวโลกทั้งปวง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกได้บุคคลที่สำคัญที่สุดของโลก ส่วนวันดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น เป็นวันที่นำมาซึ่งความทุกข์ระทม โศกเศร้า อาลัยอาวรณ์เดือดร้อนใจของชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันที่ชาวโลกต้องสูญเสียเอกอัครมหาบุรุษ ผู้สำคัญที่สุดของโลก วันทั้ง ๓ นี้ ตกอยู่ในวาระเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน วิสาขะ) วันนี้จึงนับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา

ในอภิลักขิตสมัย วันวิสาขบูชา นี้ เราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ พึงกระทำประทักษิณเวียนรอบอุโบสถ หรือปูชนิยสถาน ๓ รอบ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบูชา ๒ ประการ คือ

๑.อามิสบูชา การบูชาดว้ยสิ่งของมีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
๒.ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีควาพร้อมเพรียงกัน ตั้งตนไว้ชอบและไม่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะให้เป็นไปด้วยดี

ใน วันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบปี ก็จักไม่ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ และได้ชื่อว่ากระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง คือ บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามธรรมสมควรแก่ธรรม และจะได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์อย่างแท้จริง

 

070509-08

 

คำถวายดอกไม้ธูปเทียน วันวิสาขบูชา

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพัรหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ, สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะ- สาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา, สะวากขาโต โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ, สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลิกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ, อะยัง โข ปะนะ ปะฏิมา ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะกะตา, ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตะวา ปะสาเทนะ สังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง วิสาขะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ชาติสัมโพธินิพพานะกาละสัมมะตัง ปัตะวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปาทิ สักกาเร คะเหตะวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตะวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ปะฏิมัง ติกขักตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, อิมัง ยะถา คะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา, สาธุ โน ภันเต, ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.

คำแปล

เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย, และเราทั้งหลายชอบซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล ได้อุบัติขึ้นแล้วในหมู่มนุษย์ชาวอริยกะ ในมัชฌิมชนบท, พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคดม (เหล่ากอแห่งพระอาทิตย์) โดยพระโคตร, เป็นบุตรแห่งศากยะ เสด็จออกบรรพชาแล้วแต่ศากยสกุล เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งพระอะนุตตะระสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกกับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาลแะมนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่ต้องสงสัยแล

อนึ่ง พระธรรมเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้อย่างไม่จำกัดกาลเวลา เป็นธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นธรรมที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน

และ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วแล เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๔ บุรุษ นั่นแหละคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา, เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ, เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน, เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี, เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า, พระปฏิมานี้แล นักปราชญ์ได้อุทิศเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น สร้างไว้แล้วเพียงเพื่อเป็นเครื่อง ให้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยการเห็นแล้ว ได้ความเลื่อมใส และความระลึกถึง

บัดนี้เราทั้งหลายมาถึง วันวิสาขบูชา อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นวันที่ประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงมาประชุมกันแล้วในที่นี้ ถือเครื่องสักการะมีธูปเทียนเป็นต้นเหล่านี้ ทำกายของตนเองให้เป็นดังภาชนะรองรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ นั้นตามความเป็นจริง บูชาด้วยเครื่องสักการะตามที่ได้ถือไว้แล้ว จักทำประทักษิณซึ่งประปฏิมากรนี้สิ้นวาระ ๓ รอบ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขออัญเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว ยังทรงปราฏอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ ขอจงทรงรับซึ่งเครื่องสักการะอันข้าพระพุุทธเจ้าทั้งหลาย ถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://scoop.mthai.com/specialdays/108.html



 

วันอาสาฬหบูชา


 



       ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ในเมื่อวันนี้ของทุก ๆ ปี เวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่ง ยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชานี้ว่า 'วันพระสงฆ์' ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน ๘ อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ความสำคัญ ของวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ มีอยู่อย่างไร จะได้นำพุทธประวัติตอนหนึ่งมาเล่าต่อไปนี้ นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์
 
 
  อ้างอิง ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dhammajak.net/buddhismday/4.html
   และภาพจาก www24.brinkster.com